บทวิพากษ์ดุษฎีนิพนธ์
เรื่อง ผู้นำชุมชนชนบทไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ศึกษาเฉพาะกรณ๊
ปัจจัยที่ทำให้เกิดอำนาจและการสร้างอำนาจให้กับตน
ผู้สอน ดร.อุทัย ดุลยเกษม คณบดีคณะศิลปาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
โดย นายอภิชาติ วัชรพันธุ์ เลขที่ 09
สรุปสาระโดยย่อของงานวิจัย
จากการศึกษาดุษฎีนิพนธ์ของคุณไพฑูรย์ โพธิสว่าง เรื่อง “ผู้นำชุมชนชนบทไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ศึกษาเฉพาะกรณี : ปัจจัยที่ทำให้เกิดอำนาจและการสร้างอำนาจให้กับตน” งานวิจัยที่นำมาวิเคราะห์ในครั้งนี้ เป็นงานวิจัยที่ผู้ทำวิจัยได้เมื่อปี พ.ศ.2529-2532 ซึ่งผู้วิจัยได้ศึกษาจากเอกสารงานวิจัย อาทิ ปรัชญาตะวันตกและตะวันออก ที่เกี่ยวข้องกับผู้นำในชุมชนบทและประกอบกับงานวิจัยของชาวต่างประเทศที่เข้ามาศึกษาการวิจัยชุมชนที่เกี่ยวข้องกับผู้นำชุมชนชนบทไทย ได้แก่ อัมโยต์ แจนซิส เอฟและคณะ เคลาสเนอร์ ยัตซูซิโร ฯลฯ และนักวิชาการศึกษาของไทย คือ พัทยา สายหู ,สุเทพ สุนทรเภสัช ฯลฯ ได้วิจัยเกี่ยวกับผู้นำชนบทของประเทศไทยทั้งสิ้น ซึ่งพอที่จะสรุปงานวิจัยของนักวิชาการไทยและต่างประเทศ ส่วนใหญ่ได้ศึกษาชุมชนชนบท เน้นหนักชุมชนบทแบบดั้งเดิมในอดีตที่ผ่านมา เป็นการศึกษาผู้นำและลักษณะสำคัญทางสังคมในเรื่องอื่น ๆ รวมกันไม่เฉพาะเจาะจงแต่เรื่องผู้นำชุมชนเท่านั้น และไม่เน้นหนักในเรื่องอำนาจอิทธิพลของผู้นำเท่าใดหนัก แต่เน้นไปที่บทบาทหน้าที่ของผู้นำชุมชนทางสังคมรวมทั้งบทบาทของผู้นำในการพัฒนาชนบท และยังเน้นไปที่ตัวผู้นำที่เป็นทางการ แต่ไม่บ่งบอกถึงวิธีการระบุหรือค้นหาตัวผู้นำที่จะนำมาศึกษาอย่างชัดเจนเพียงพอ งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยในความหมายของนักรัฐศาสตร์ ได้ให้ความสนใจชนชั้นนำ ซึ่งชนชั้นนำในชุมชนนั้น หมายถึง เป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มชนที่ได้เปรียบ ได้ประโยชน์และอยู่บนยอดปิรามิดของสังคมในด้านต่าง ๆ มีอยู่ในจำนวนที่น้อยเมื่อเทียบกับคนในชุมชน และเป็นชนชั้นนำที่อยู่บนยอดปิรามิดทางด้านสังคม ศาสนา เศรษฐกิจ การศึกษา การประกอบอาชีพ การเป็นเจ้าของที่ดิน เจ้าของร้านค้า ฯลฯ บุคคลเหล่านี้ บางคนอาจเป็นผู้นำชุมชนชนบทด้วย แต่บางคนเป็นผู้นำชนบทในด้านต่าง ๆ มิใช่เป็นผู้นำชนบท ผู้วิจัยจะต้องนำวิธีของนักรัฐศาสตร์มาระบุหาวิธีการคัดเลือกและค้นหาชนชั้นนำมาศึกษาที่มีระเบียบวิธีการที่น่าเชื่อถือ ซึ่งจะต้องนำเป็นแบบอย่างในการศึกษาระบุตัวผู้นำชนบทต่อไป ในการวิจัยจะต้องแยกผู้นำชุมชนชนบทกับผู้นำชุมชนในด้านอื่น ๆ แยกออกจากกันให้เด็ดขาด เพื่อที่จะให้ผลการวิจัยออกมากระจ่างชัดเจน
คำถามการวิจัย ผู้นำชนบทมีที่มาของอำนาจมาจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นตัวทำให้เกิดอำนาจของผู้นำ และผู้นำได้ใช้ปัจจัยเหล่านั้นอย่างไร ในการสร้างอำนาจให้กับตน และเนื่องจากชุมชนชนบทมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระยะ 10-20 ปี ทำให้ชุมชนชนบทอยู่หลายระดับที่แตกต่างกัน ซึ่งกำลังสู่ความเป็นเมืองมากยิ่งขึ้น คือ ชุมชนจะมีระดับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นเมืองที่แตกต่างกันไป คือ ชุมชนชนบทดังเดิม และชุมชนชนบทกึ่งเมือง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในสมัยใหม่ เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ในทุก ๆ ด้าน ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม การเจริญเติบโตเป็นชุมชนเมืองการขยายการศึกษา การตื่นตัวด้านพัฒนาสังคม และการตอบสนองการเรียกร้องที่จะเข้ามีส่วนร่วมในการเมือง การเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบที่สำคัญของสังคมมีดังนี้ คือ
1) การเปลี่ยนแปลงในตัวผู้นำในสังคมที่พัฒนาแล้วไม่ยอมรับผู้นำโดยคำนึงการสืบทอดเชื้อสาย แต่จะเลือกตามกฎหมายและเกณฑ์สมัยใหม่ คือ รับตำแหน่งโดยผ่านการเลือกตั้ง
2) การเปลี่ยนแปลงด้านความคิดเห็น จิตใจ และวัฒนธรรม คือ การเปลี่ยนแปลงค่านิยม ทัศนคติ โลกทัศน์ ความเชื่อและมายาคติ จากการยอมรับนับถือในผีสางนางไม้ ระบบเจ้าขุนมูลนาย มาเป็นการยอมรับในความเท่าเทียมกันของบุคคล หันมานับถือความสำเร็จของบุคคล จากผลงานหรือการศึกษา
3) การเปลี่ยนแปลงในกลุ่มการเมือง เกิดจากการรวมตัวทางสังคมและเศรษฐกิจของประชาชน ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้เคยรวมตัวกันตามความเชื่อทางศาสนา ระบบเครือญาติและระบบท้องถิ่น เมื่อมีการพัฒนาให้เป็นสมัยใหม่ ประชาชนจะรวมกลุ่มกันโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ได้รับทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองเป็นสำคัญ
4) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม เป็นการยอมรับว่าองค์กรและสถาบันการเมืองต่าง ๆ พรรคการเมือง สภานิติบัญญัติ รัฐบาลและระบบการปกครอง มีอิทธิพลต่อความอยู่รอดของระบบการเมืองแทนที่จะให้อำนาจสูงสุดแก่องค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้นดังแต่ก่อน
5) การเปลี่ยนแปลงในนโยบายการปกครอง เป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญต่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ แทนที่จะมุ่งตอบสนองคนบางกลุ่มซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย
ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของผู้นำในชุมชนเป็นสิ่งหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงอันสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นเมืองของชุมชนและการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ของชุมชนซึ่งชุมชนในชนบทของประเทศไทยจึงมีความแตกต่างในระดับของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นเมืองชุมชนชนบทดั้งเดิม ชุมชนชนบทที่กำลังเปลี่ยนแปลง และชุมชนชนบทกึ่งเมือง
ซึ่งผู้วิจัยพยายามที่จะนำชุมชนทั้ง 3 นี้มาศึกษาเปรียบเทียบด้วยว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดอำนาจของผู้นำในชุมชนชนบทแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร
โจทย์ปัญหาของการวิจัย
สรุปโจทย์ปัญหาการวิจัย จึงได้กำหนดดังนี้
1. โจทย์ปัญหาการวิจัย (Research Question หรือ Research Problem)
งานวิจัยฉบับนี้ผู้วิจัยได้ตั้งปัญหาการวิจัยไว้ 2 ประการ คือ
ประการที่ 1 มีปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นตัวทำให้เกิดอำนาจของผู้นำ และผู้นำได้ใช้ปัจจัยเหล่านั้นอย่างไรในการสร้างอำนาจให้กับตน
ประการที่ 2 ปัจจัยที่ก่อให้เกิดอำนาจของผู้นำชุมชนแต่ละประเภทมีความแตกต่างหรือไม่อย่างไร
โดยได้ระบุวัตถุประสงค์หลักสำคัญ 2 ประการ คือ 1) เพื่อวิจัยให้ทราบปัจจัยที่เป็นตัวทำให้เกิดอำนาจของผู้นำ และเพื่อให้ทราบว่าผู้นำนั้นได้ใช้ปัจจัยเหล่านั้นอย่างไรบ้าง เพื่อสร้างอำนาจให้กับตน 2) เพื่อวิจัยให้ทราบถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดอำนาจของผู้นำชุมชนชนบท 3 ประเภทมีความแตกต่างกัน(หรือเหมือนกัน) หรือไม่ อย่างไร
และได้ตั้งสมมติฐานในการวิจัย 2 ประการคือ 1) ปัจจัยที่ทำให้เกิดอำนาจของผู้นำ ได้แก่ อายุ ตำแหน่งในทางสาธารณะ ความมั่งคั่ง ความรู้ ความชำนาญ และการมีข่าวสารข้อมูล โดยที่ผู้นำได้ใช้ปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เพื่อสร้างอำนาจให้กับตนและ 2) ปัจจัยที่ทำให้เกิดอำนาจของผู้นำในชุมชนชนบท 3 ประเภทมีความแตกต่าง
ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย
1. ข้อค้นพบที่ได้รับจากการวิจัย จะเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายการบริหาร การปกครองของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำนโยบายการพัฒนาชนบท นโยบายในการรักษาความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
2. ข้อค้นพบที่ได้รับจากการวิจัย อาจจะเป็นประโยชน์ทางอ้อมสำหรับผู้ที่ประสงค์จะเป็นผู้นำชุมชน และผู้นำการเมืองระดับท้องถิ่นรวมทั้งระดับชาติอื่นๆ เนื่องมาจากผลการวิจัยทำให้ทราบว่าผู้นำที่ดีในทัศนะของชาวชนบทเป็นอย่างไร
3. เป็นการบุกเบิกการวิจัยในแนวทางนี้ในชนบท ทำให้เปิดวงวิชาการศึกษาวิจัยผู้นำในชนบทในแนวทางนี้ให้กว้างขวางต่อไป เป็นทั้งการเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการและเป็นการเพิ่มพูนความรู้เพื่อการปฏิบัติการต่าง ๆ ในชนบท
บทวิพากษ์
1. คำถามหรือโจทย์การวิจัย เป็นอย่างไร ชัดเจนถูกต้องเหมาะสมถูกต้องหรือยัง
จากปัญหาและวัตถุประสงค์และสมมติฐานของการวิจัยเป็นการศึกษาว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นตัวที่ก่อให้เกิดอำนาจของผู้นำและผู้ใช้ปัจจัยเหล่านั้นอย่างไรที่เป็นเงื่อนไขในสร้างอำนาจให้กับตน และปัจจัยที่ก่อให้เกิดอำนาจของผู้นำในชนบททั้ง 3 ประเภทมีความแตกต่างกัน(หรือเหมือนกัน) หรือไม่อย่างไร ซึ่งหากจะวิพากษ์ในประเด็นว่าโจทย์และสมมติฐานการวิจัย มีความชัดเจนเหมาะสมหรือไม่ ข้าพเจ้าคิดว่าโจทย์และสมมติฐานทั้ง 2 ข้อ พบว่าหัวข้อการวิจัยถูกต้องสอดคล้องกับสมมติฐาน มีความชัดเจนดี เพราะเมื่ออ่านโจทย์แล้วผู้อ่านสามารถทราบได้ว่า ผู้วิจัยต้องการหรืออยากรู้/อยากทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องอะไร ในประเด็นใดบ้าง และต้องศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงไหน เพื่อจะหาข้อมูลเพื่อนำมาอธิบายสิ่งเขาอยากรู้ได้จากแหล่งใด/หน่วยข้อมูลใดเป็นต้น จากปัญหาการวิจัยดังกล่าวผู้วิจัยเลือกวิธีการทาง Methodology ที่เหมาะสมมาใช้ ในการศึกษา กล่าวคือ ควรเลือกวิธีวิจัยแบบใดมาใช้ในการศึกษาเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้/ข้อมูลต่าง ๆ อธิบายหรือตอบปัญหาการวิจัยได้สมบูรณ์เหมาะสมที่สุด (หากผู้วิจัยมีความรู้ความเข้าเกี่ยวกับวิธีการวิจัยแบบต่าง ๆ ที่ถูกต้องเหมาะสมเพียงพอ)
ประเด็นของคำถามของผู้วิจัย มีข้อสังเกตว่า ปัญหาการวิจัยทั้ง 2 ข้อนั้น เป็นปัญหาที่จะหาปัจจัยที่ผู้วิจัยได้ศึกษาเอกสารงานและวิจัยที่เกี่ยวข้อง บริบทของชุมชนว่ามีการเกิดขึ้นในบริบททางสังคมที่เกี่ยวข้องกับผู้นำชุมชนในชุมชนชนบทดั้งเดิม ชุมชนชนบทที่กำลังเปลี่ยนแปลง และชุมชนชนบทกึ่งเมือง นำมาเปรียบเทียบกันในประเด็นของการใช้อำนาจของผู้นำในชนบททั้ง 3 ชุมชน มีความแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร การดำรงอยู่ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบริบทชุมชนชนบทดั้งเดิม ชุมชนชนบทที่กำลังเปลี่ยนแปลงและชุมชนชนบทกึ่งเมือง มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับใช้อำนาจที่สามารถดำรงอยู่ได้ มีความแตกต่างในการใช้อำนาจหรือไม่อย่างไร และการเปลี่ยนแปลงการใช้อำนาจของผู้ในชุมชนชนบท ทั้ง 3 ชุมชนในชนบทมีการปรับตัวภายใต้การเปลี่ยนแปลงผ่านโครงสร้างสังคมประเพณีไปสู่สังคมทันสมัยอย่างไร มีปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างที่จะยอมรับความเป็นผู้นำชุมชนชนบททั้ง 3 ประเภทได้อย่างไร
พอที่จะเห็นได้ว่าเป็นการตั้งปัญหาที่ต้องการจะต้องนำปัญหาไปค้นหาว่ามีความรู้/ข้อมูลใดที่จะมาอธิบายในแต่ประเด็นว่า มีปัจจัยอะไร อย่างไรบ้าง ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นั้นๆ ขึ้น ข้อมูลที่จะต้องนำมาอธิบายนั้นจะต้องมีความแตกต่างกัน คือ มีปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นตัวทำให้เกิดอำนาจของผู้นำ และผู้นำได้ใช้ปัจจัยเหล่านั้นอย่างไรในการสร้างอำนาจให้กับตน พร้อมทั้งปัจจัยที่ก่อให้เกิดอำนาจของผู้นำชุมชนแต่ละประเภทมีความแตกต่างหรือไม่อย่างไร ซึ่งการวิจัยนี้หากพิจารณาดูเราจะพบว่า เป็นการวิจัยที่กำหนดโดยวิธีการอนุมาน(deduction) เป็นวิธีการเริ่มต้นด้วยการตั้งสมมติฐานคือใช้ทฤษฎีที่มีมาก่อนแล้ว สังเกตปรากฏการณ์หรือใช้เป็นแนวทางรวบรวมข้อมูล เพื่อวิเคราะห์ว่าปรากฏการณ์/ข้อมูลเหล่านั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไรภายใต้กรอบสมมติฐาน/ทฤษฎีที่ตั้งไว้ ถ้าถูกต้องจึงถือว่าเป็นองค์ความรู้ใหม่ การมองจะต้องมองจากจุดเล็กที่มีลักษณะเฉพาะเปรียบเสมือนมองออกไปจากช่องที่ก้นกรวยไปยังปากกรวย แต่อย่างไรก็ตามผู้วิจัยได้กล่าวว่าเป็นการผสมผสานการวิจัยทั้ง 2 แบบ คือ ปริมาณและคุณภาพ ซึ่ง Morgan(1998,362-367 อ้างอิงมาจาก ทวีศักดิ์ นพเกสร 2548,48) การวิจัยแบบผสมผสานทั้ง 2 แบบ กล่าวคือ ได้คำนึงถึงหลัก 2 ประการคือ 1) วิธีการหลัก (principal method) เป็นเชิงปริมาณหรือคุณภาพ (กำหนดความสำคัญ) และ 2) วิธีการเสริม(complementary method) เป็นการดำเนินการก่อนหรือภายหลังจากการได้ข้อมูลหลักแล้ว
ซึ่งหากข้าพเจ้าเป็นผู้วิจัยจะใช้แนวทางในการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ โดยพยายามสร้างความรู้จากวิธีการอุปมาน เช่น ผู้นำในชุมชนชนบทนี้มันเป็นอย่างไงว่ะ เริ่มต้นโดยการสร้างความรู้ด้วยการสังเกต รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มาก่อนจนเพียงพอ และนำมาตั้งสมมติฐานที่ว่า ผู้นำชุมชนเขามีการดำรงอยู่ได้อย่างไร ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจมีปัจจัยอะไรที่สำคัญต่อการเกิด การดำรงอยู่และการเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มากกว่าที่จะปักธงลงไปตามที่ผู้วิจัยได้กล่าวดังข้างต้น ซึ่งหากมองเป็นเพียงตั้งสมมติฐานเพื่อนำไปสู่คำถามว่าจะต้องเป็นไปตามที่ผู้วิจัยได้กำหนดไว้ พิจารณาดูว่าเป็นอาจอาศัยเทคนิคมากกว่าเป็นค้นคว้าวิจัยที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
2. วิธีวิทยาการวิจัย(Research Methodology )
สำหรับหน่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล (Unit of Analysis) หรือ ระดับการวิเคราะห์ (Level of Analysis) มีความสำคัญมาก เพราะมันจะมีผลต่อประเด็นอื่นๆตามมาอีกหลายประเด็น การเลือกหน่วยการวิเคราะห์หรือระดับการวิเคราะห์นี้ ถ้าในการทำวิจัยที่ต้องการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการทางสถิติอนุมาน (Inferential Statistics) หน่วยวิเคราะห์ก็คือ N หรือ n นั้นเอง และเวลาต้องการสุ่มการสุ่มก็เป็นการสุ่ม หน่วยการวิเคราะห์หรือระดับการวิเคราะห์นั้นเอง
ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ใช้หน่วยการวิเคราะห์ในระดับบุคคล (individual) เป็นการศึกษารายบุคคล ระดับการวิเคราะห์นั้นเป็นการวิเคราะห์ถึงผู้นำชุมชน ในระดับท้องถิ่น เป็นชุมชนที่ผู้วิจัยได้คัดเลือกมา 3 ประเภท คือ ชุมชนชนบทดั้งเดิม ชุมชนชนบทที่กำลังเปลี่ยนแปลง และชุมชนชนบทกึ่งเมือง หากพิจารณารายละเอียดพบว่า ชุมชนนำมาใช้ในการคัดเลือกนี้ ผู้วิจัยกล่าวว่าเป็นการวิจัยแบบเจาะลึก ผู้วิจัยเข้าไปพัวพันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี เป็นชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งผู้วิจัยได้สรุปความหมายของคำว่า
1) ชุมชน คำว่า “ชุมชน” มีองค์ประกอบดังนี้ คือ 1) กลุ่มคนหรือประชาชนที่อยู่ในอาณาเขตบริเวณพื้นที่เดียวกัน 2) ความสนใจร่วมกันปฏิบัติต่อกัน 3) ความสัมพันธ์ของสมาชิก มีความผูกพันให้อยู่ร่วมกันในชุมชนนั้น
2) ชุมชนชนบทไทย คำว่า “ชุมชนชนบท” หมายถึง “บ้านนอก” ขนาดครอบครัวชนบทมีขนาดใหญ่กว่าครอบครัวในเมือง ประกอบด้วยคน 3 วัย คือ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่และลูก วัยในการแต่งงานและมีอัตราการเพิ่มประชาชนมกกว่าในเมือง อาชีพเป็นอาชีพเกษตรกรรม การศึกษาส่วนใหญ่จบ ป.6 อัตราการตายของทารกในชนบทมากกว่าชุมชนในเมือง
3) ชุมชนชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ “ชนบทอีสาน” ประกอบด้วย 16 จังหวัด เป็นที่ราบสูงโคราช มีพื้นที่ร้อยละ 33.12 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ลักษณะดินแห้งแล้ง ประชากรว่างงานจึงถูกผลักดันอพยพแรงงานย้ายแรงจากออกจากถิ่นที่อยู่อาศัย ภาคเดียวกันหรือภาคอื่น ๆ ทั้งชั่วคราวและถาวร การดำรงชีพอยู่ในสังคมอยู่ร่วมกันมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น เป็นกันเอง ทุกคนรู้จักกันครอบครัวมีขนาดใหญ่ ทำเครื่องมือใช้เอง ทำอาหารเอง ทอเสื้อผ้าใช้เอง มีศาสนาวัดเป็นแหล่งที่ให้ความรู้กับประชาชน ประเพณีวัฒนธรรมชาวชนบทให้ความสำคัญ พิธีกรรมต่าง ๆ เช่น งานบวช แต่งงาน งานศพ ทำบุญบ้าน ฯลฯ ระดับการศึกษาอยู่ในระดับต่ำ มีค่านิยมที่นับถือผู้ที่ใหญ่เจ้านาย (หมายถึงข้าราชการ) มีจิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีจิตใจเมตตากรุณา รู้จักบุญคุณคนไม่เอารัดเอาเปรียบ มีลูกมาก รักญาติพี่น้อง นิยมบวช เรียนรู้ทางศาสนา นับถือผู้มีวิชาความรู้ ยกย่องคนขยันหมั่นเพียร ประกอบอาชีพสุจริต เอาใจใส่พี่น้องรักท้องถิ่น
4) การเปลี่ยนแปลงของชุมชนชนบทไปสู่ชุมชนเมือง วิถีชีวิตสังคมคนชนบทค่อย ๆ เปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมของเมือง ดำเนินชีวิตแบบคนเมือง เช่น ฟังวิทยุ และการคมนาคมขนส่งสมัยใหม่มากขึ้น นุ่งกางเกง ยีนส์ สูบบุหรี่ มีสถานีอนามัย โรงพยาบาลหรือคลินิก ในยามเจ็บไข้ได้ป่วย ด้านสังคม วัฒนธรรม ระบบเครือญาติ การพึงพากันน้อยลง ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเกษตรกรรม นำพืชเศรษฐกิจมาปลูก และนโยบายสินเชื่อภาคเกษตรโดยผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ยึดมั่นในประเพณีและความเชื่อ มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมของสังคมเมืองและสื่อสารมวลชน ทำให้รับเอา “ความทันสมัย” รวมทั้งพฤติกรรมการรักษาโรค ค่านิยมในการเรียนสูง ๆ การบันเทิง แบบคนเมืองมากยิ่งขึ้น
การออกแบบการวิจัย
หลักและวิธีการค้นหาระบุตัวผู้นำ มี 3 วิธี
1. วิธีการระบุตัวผู้นำโดยดูที่ชื่อเสียง เป็นวิธีของ ฟลอย ฮันเตอร์ มีชื่อเสียง โดยการสัมภาษณ์ประชาชนว่า บุคคลที่เขาถือเป็นผู้นำ เป็นที่ยอมรับเชื่อฟังและประชาชนทั่วไปยอมรับปฏิบัติตามเขานั้นเป็นใคร ใช้วิธีการ 2 แบบ คือ (1) แบบขั้นตอนเดียว ต้องออกไปสัมภาษณ์ประชาชนในชุมชนที่จะศึกษาว่า ใครคือผู้มีอำนาจมากที่สุดในชุมชนคือใคร คนที่ถูกเสนอชื่อมากเป็นคนที่ถือได้ว่ามีอำนาจมากที่สุด (2) แบบสองขั้นตอน เหมือนขั้นตอนแรก นำไปเรียงลำดับ แล้วไปให้ผู้รู้เรื่องเกี่ยวกับชุมชนดี (Key informants) หรือผู้นำด้วยกันเองเป็นผู้ตัดสินอีกทีว่า ใครเป็นผู้นำที่แท้จริง อาจเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ซึ่งถือว่า ผู้นำที่ได้คะแนนมากที่สุดถือว่า ผู้มีอำนาจมากที่สุดในทัศนะของผู้นำด้วยกัน
2. วิธีการระบุตัวผู้นำโดยดูที่การตัดสินใจ วิธีการของโรเบิร์ด เอ.ดาห์ล มีหลักอยู่ว่า ผู้ที่มีบทบาทสำคัญและผลักดันให้การตัดสินใจเป็นไปตามความต้องการของคนได้มากที่สุดถือได้ว่าเป็นผู้นำที่มีอำนาจมากที่สุด ฉะนั้นเป็นการคัดเลือกในการตัดสินใจในชุมชนตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
3. ระบุตัวผู้นำโดยดูจากตำแหน่ง ดูจากตำแหน่งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ หรือใครที่อยู่ในโครงสร้างขององค์การนั้น ๆ รวบรวมรายชื่อมาศึกษาวิเคราะห์ ผู้อยู่ในตำแหน่งสูงถือว่ามีอำนาจสูง
การคัดเลือกผู้นำชุมชนทั้ง 3 ชุมชน
ผลจากการคัดเลือกผู้นำชุมชนพิจารณาจากชื่อเสียง การตัดสินใจ ดูที่ตำแหน่งมีรายละเอียดคือ
ผู้นำโดยวิธีการดูชื่อเสียง พบว่า
ชุมชนชนบทแบบดั้งเดิม ชุมชนหนองนาแซง มีจำนวน 36 คน
ชุมชนชนบทที่กำลังเปลี่ยนแปลง ชุมชนโนนสมบูรณ์ มีจำนวน 61 คน
ชุมชนชนบทกึ่งเมือง ชุมชนศรีวิไล มีจำนวน 26 คน
ผู้นำโดยวิธีการดูที่การตัดสินใจ พบว่า
ชุมชนชนบทแบบดั้งเดิม ชุมชนหนองนาแซง มีจำนวน 15 คน
ชุมชนชนบทที่กำลังเปลี่ยนแปลง ชุมชนโนนสมบูรณ์ มีจำนวน 29 คน
ชุมชนชนบทกึ่งเมือง ชุมชนศรีวิไล มีจำนวน 14 คน
ผู้นำโดยวิธีการดูที่ตำแหน่ง พบว่า
ชุมชนชนบทแบบดั้งเดิม ชุมชนหนองนาแซง มีจำนวน 19 คน
ชุมชนชนบทที่กำลังเปลี่ยนแปลง ชุมชนโนนสมบูรณ์ มีจำนวน 29 คน
ชุมชนชนบทกึ่งเมือง ชุมชนศรีวิไล จำนวน 38 คน
การวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้เกิดอำนาจ
มี 2 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่หนึ่ง วิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างผู้นำและประชาชนทั่วไป ในเรื่องของการมีและใช้ปัจจัยต่าง ๆ 6 ประการคือ อายุ ตำแหน่งในสาธารณะ ความมั่งคั่ง ความรู้ ความชำนาญ และการมีข่าวสารข้อมูล และผู้วิจัยได้ใช้สถิติวิเคราะห์ทางสังคมศาสตร์ T-test และค่าเฉลี่ย เป็นเครื่องมือในการวิจัย
ขั้นตอนที่สอง มีปัจจัยอะไรบ้างที่สามารถอธิบายถึงการมีอำนาจได้ดีที่สุดและในระดับรองลงมา ผู้วิจัยใช้ Stepwise multiple regress เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการพยากรณ์
ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดอำนาจโดยใช้การวิเคราะห์ถดถอยพหุแบบขั้นตอนทำให้ทราบว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดอำนาจ มี 4 ปัจจัยคือ ตำแหน่งในทางสาธารณะ ความรู้ ความชำนาญและอายุ และปัจจัยทั้ง 4 สามารถมีผลต่อการทำให้เกิดอำนาจของบุคคลได้ร้อยละ 69.8 ของการมีอำนาจทั้งหมด ตำแหน่งในทางสาธารณะเป็นปัจจัยที่มีผลในการทำให้เกิดอำนาจมากที่สุดคือ ร้อยละ 49.6 รองลงมาคือ ความรู้ ความชำนาญและอายุ เป็นปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดอำนาจแก่บุคคลเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 63.4, 67,9 และ 69.8 ตามลำดับ
การวิจัยในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้กล่าวว่า วิจัยที่ศึกษาครั้งนี้ เป็นวิจัยเชิงสนามที่ต้องใช้วิจัยวิธีการวิจัยปริมาณและเชิงคุณภาพผสมผสานกัน ซึ่งผู้วิจัยใช้แบบสัมภาษณ์(สำหรับหัวหน้าครอบครัว) แบบสัมภาษณ์(สำหรับผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญ) แบบสัมภาษณ์(ผู้นำชุมชนในชนบท)และได้สัมภาษณ์ผู้นำชุมชน โดยใช้
กรณีดูการตัดสินใจ ได้แก่ชุมชนหนองนาแซง จำนวน จำนวน 25 คน ชุมชนโนนสมบูรณ์ จำนวน 23 คน ชุมชนศรีวิไล จำนวน 25 คน
กรณีดูชื่อเสียง ชุมชนหนองนาแซง จำนวน 36 คน ชุมชนโนนสมบูรณ์ จำนวน 36 คน ชุมชนศรีวิไล จำนวน 65 คน
กรณีการตัดสินใจ ชุมชนหนองนาแซง จำนวน 44 คน ชุมชนโนนสมบูรณ์ จำนวน 42 คน ชุมชนศรีวิไล จำนวน 66 คน
การวิเคราะห์โดยใช้สถิติในการวิจัยปัจจัยที่ทำให้เกิดอำนาจ ดังนี้
วิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างผู้นำกับประชาชนในตัวแปร ด้านอายุ ตำแหน่ง ความมั่งคั่ง โดยใช้สถิติ ดังนี้ หาค่าเฉลี่ย หาค่า SD. หาค่า T-test และสถิติการวิเคราะห์ถดถอยแบบพหุแบบขั้นตอน โดยใช้
ขั้นตอนในการวิจัย
1. คัดเลือกชุมชนชนบท 3 ประเภท โดยใช้เกณฑ์
จากประเด็นดังกล่าว ผู้วิจัยจึงได้เลือกชุมชนอย่างคร่าว ๆ 3 ประเภท คือ ชุมชนชนบทดั้งเดิม ชุมชนชนบทที่กำลังเปลี่ยนแปลง และชุมชนชนบทกึ่งเมือง โดยใช้หลักเกณฑ์ของสัญญา สัญญาวิวัฒน์ และคณะ ดังนี้
1) การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร (เพิ่มมากขึ้น/มีการโยกย้ายเข้ามาประกอบอาชีพต่าง ๆ ในชุมชนมาขึ้น)
2) การเปลี่ยนแปลงทางสังคม (องค์กรทางสังคมมีเพิ่มมากขึ้น ชื่อสัตย์สุจริตไว้ใจน้อยลง มีการแข่งขันสูง ขาดแย้งมากขึ้น สัมพันธ์แบบปฐมภูมิลดลง ติดต่อกันมีเป้าหมายแน่นอน สัมพันธ์แบบญาติพี่น้องลดน้อยลง ใช้กฎหมายคุมควบ)
3) การเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรม (ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ลดความสำคัญลง ความศักดิ์ทางศาสนาเจือจางลง ค่านิยมค่อยเปลี่ยนไป มีการจ้างแรงงานเข้ามาแทนที่การลงแขก วัฒนธรรมการช่วยงานวัดศาสนาประเพณี และงานบุญเปลี่ยนไป จำนวนวัด พระลดลง จริยธรรม ความเชื่อ ความศรัทธา ความยึดมั่นปฏิบัติไม่จริงจังเช่น แต่ก่อน ความเชื่อในโชคลาง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภูตผีปีศาลลดลง
4) การเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยา (การตั้งบ้านเรือน ส่วนใหญ่มีแบบแผนล่วงหน้า ลักษณะเป็นบ้านเรือนสมัยใหม่ การคมนาคมสะดวกมากยิ่งขึ้น ถนนขี้ควาย แยกออกต่างหากจากคนเดิน
5) การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและอาชีพ (มีพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำเกษตรเพื่อการค้ามากขึ้น มีความชำนาญเพิ่มขึ้น มีการเพิ่มทุนมากขึ้น กู้เงินจากพ่อค้าหรือแหล่งเงินทุนอื่น ๆ กรรมสิทธิ์ที่ดินและทรัพย์สินที่ครอบครองมีโครงสร้างเปลี่ยนไป ค่าใช้จ่ายและการเสียภาษีเปลี่ยนไป)
6) การเปลี่ยนแปลงทางด้านการศึกษา มีการศึกษาสูงขึ้น มีแหล่งเรียนรู้จากสื่อสารมวลชนมากขึ้น
7) การเปลี่ยนแปลงด้านการปกครองและการบริหารของทางราชการ ราชการมีการสร้างสาธารณสมบัติมากขึ้น เช่น ถนน สะพาน โรงเรียน ไฟฟ้า น้ำประปา ฯลฯ มีการวางแผนครอบครัว ปฏิรูปที่ดิน มีการจัดตั้งชุมชน
8) การเปลี่ยนแปลงทางเทศนิควิทยา วัฒนธรรมทางตะวันตกเข้าสู่เมืองและจากเมืองสู่ชนบท มีเครื่องจักรกลการเกษตร จักรยานยนต์ วิทยุหนังสือพิมพ์
9) การเปลี่ยนแปลงด้านสันทนาการ เดิมเพลงหมอลำเป็นเพลงสมัยใหม่ ภาพยนตร์ มาจากเมืองและตะวันตก งานประเพณีดั้งเดิมสงกรานต์ มีผู้สนใจลดลง
10) การเปลี่ยนแปลงด้านครอบครัว หนุ่มสาวหาคู่ด้วยตนเอง บทบาทพ่อแม่ลดลง คนเฒ่าคนแก่ลดลง ขนาดครอบครังลดลง อัตราการเกิดน้อยลง การหย่าร้างไม่ถือเป็นเรื่องร้ายแรง ซึ่งชุมชนใดเมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ 10 ประการ พิจารณาว่า ชุมชนใดมีลักษณะที่ล้าหลังดั้งเดิม เป็นชนชนบทไทยอย่างแท้จริง เป็นชุมชนแบบดั้งเดิม ชุมชนใดค่อนข้างทันสมัยและมีลักษณะใกล้เคียงสังคมเมือง ถือว่าเป็นชุมชนกึ่งเมือง ส่วนชุมชนที่อยู่ระหว่างสองชุมชนนั้นถือว่า เป็นชุมชนที่กำลังเปลี่ยนแปลง
ดังนั้นการคัดเลือกชุมชนนั้น ผู้วิจัยได้ใช้เกณฑ์ในการคัดเลือก 10 ประการที่นำมาใช้ในการพิจารณา ซึ่งพอที่จะน่าเชื่อถือได้ และได้คัดเลือกชุมชนชนบทในท้องที่อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย มี 3 ระดับ คือ ชุมชนชนบทแบบดั้งเดิม คือ ชุมชนหนองนาแซง ชุมชนชนบทที่กำลังเปลี่ยนแปลง คือ ชุมชนโนนสมบูรณ์ ชุมชนชนบทกึ่งเมือง คือ ชุมชนศรีวิไล
2. การค้นหาผู้นำมาทำการวิจัย
ค้นหาผู้นำชุมชนชนบท 3 ประเภท เพื่อนำมาเป็นตัวอย่างในการวิจัย โดยการใช้ 3 วิธีการ คือ ระบุตัวผู้นำโดยพิจารณาที่ชื่อเสียง และวิธีการดูที่การตัดสินใจ เป็นสองวิธีหลัก และวิธีการดูตำแหน่ง เป็นวิธีรองที่ใช้ตรวจสอบดูว่าวิธีการค้นหาและระบุตัวผู้นำด้วยวิธีการสองอย่างแรก ว่าถูกต้องเหมาะสมอย่างไร
3. การเก็บรวบรวมข้อมูล
1) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล แบบสัมภาษณ์(questionnaire) และแนวทางการสัมภาษณ์(interview schedule) เป็นหลัก นำแบบร่างไปปรึกษาหารือกับผู้เชียวชาญ นำแบบสัมภาษณ์และแนวทางไปทดสอบกับ(pretest) กับพื้นที่วิจัยที่แท้จริงก่อน แล้วนำไปปรับปรุงดัดแปลงให่เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป แบบสัมภาษณ์แบ่งออกเป็น 3 ชุด คือ
แบบสัมภาษณ์ชุดที่ 1 สัมภาษณ์ทุกครัวเรือน 3 ชุมชน (จำนวน 1,062 คน)
แบบสัมภาษณ์ชุดที่ 2 เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสัมภาษณ์ผู้ให้ข่าวสำคัญ(Key informants) เพื่อทำการค้นหาหรือระบุตัวผู้นำ โดยการดูวิธีการตัดสินใจ
2) วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
เป็นวิจัยสนาม(field research) ใช้วิธีการวิจัยปริมาณและเชิงคุณภาพ ผสมผสานกัน มี 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรก เป็นการสำรวจ สัมภาษณ์และสอบถามประชาชนจากทุกครัวเรือน จำนวน 1,062 คน) ทั้ง 3 ชุมชน เพื่อทราบปัจจัยต่าง ๆ ของประชาชนพร้อมทั้งให้ประชาชนแต่ละครัวเรือน ขั้นตอนที่สอง เป็นการเข้าพัวพัน คลุกคลีกับประชาชนภายในชุมชนเป็นเวลานานพร้อมทั้งสัมภาษณ์แบบเจาะลึก โดยใช้แนวทางการสัมภาษณ์เป็นเครื่องนำทาง มีการสังเกตการณ์ ความเป็นไปของผู้นำแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม
การวิเคราะห์ตีความข้อมูล
ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูล 2 แบบคือ
1. การพรรณนาวิเคราะห์
เป็นการพรรณนาที่เกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้เกิดอำนาจของผู้นำ และการใช้ปัจจัยต่าง ๆ มาเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างอำนาจให้กับตนของของผู้นำ ว่าผู้นำใช้ปัจจัยอะไรบ้าง ใช้ปัจจัยแต่ละอย่างอย่างไร หรือใช้ปัจจัยเกื้อหนุนอย่างไร จึงทำให้ตนเองเป็นผู้ได้รับการยอมรับ เชื่อฟังและปฏิบัติตามจากประชาชน เป็นการตอบปัญหาการวิจัยและทดสอยสมมติฐาน
2. การวิเคราะห์โดยใช้สถิติ
เป็นการทดสอบสมมติฐานที่ว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดอำนาจของผู้นำในชุมชนชนบท คือ อะไรบ้าง และปัจจัยที่ทำให้เกิดอำนาจของผู้นำในชุมชนชนบท 3 ประเภท มีความแตกต่างกันจริงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ อย่างไร เป็นการเสริมการพรรณนาวิเคราะห์ข้างต้นให้มีความหนักแน่นและเด่นชัดยิ่งขึ้น
ขั้นตอนและเวลาในการดำเนินการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้ ใช้เวลามากกว่า 3 ปี มีขั้นตอนดังนี้
1) สร้างแบบวิจัย
1.1 ศึกษาแนวคิดทฤษฎีและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เขียนโครงร่างวิจัย มี.ค.-มิ.ย.29
1.2 เขียนโครงร่างวิทยานิพนธ์ ก.ค.-ก.ย.29
2) ปฏิบัติงานสนาม
1.1 การคัดเลือกชุมชน เม.ย.-พ.ค. 30
1.2 การค้นหาผู้นำชุมชน มิ.ย.-ก.ย.30
1.3 การเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์อำนาจของผู้นำ ส.ค.30-ส.ค.31
3) ผลการวิจัย
3.1 การวิเคราะห์ข้อมูล พ.ย.31-ก.พ.32
3.2 การเขียนและพิมพ์วิทยานิพนธ์ พ.ย.31-มิ.ย.32
วิพากษ์ที่เกี่ยวข้องกับวิธีวิทยาวิจัย
วิธีวิทยาวิจัยผู้วิจัยได้พยายามสร้างเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้นำ และกำหนดพื้นที่เพื่อที่จะเก็บข้อมูลให้สอดคล้องกับงานวิจัยให้มากที่สุด หากพิจารณาจากประเด็นที่เกี่ยวข้องวิธีวิทยาวิจัยนั้น พบว่า ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ใช้หน่วยการวิเคราะห์ในระดับบุคคล (individual) เป็นการศึกษารายบุคคล ระดับการวิเคราะห์นั้นเป็นการวิเคราะห์ถึงผู้นำชุมชน ในระดับท้องถิ่น เป็นชุมชนที่ผู้วิจัยได้คัดเลือกมา 3 ประเภท คือ ชุมชนชนบทดั้งเดิม ชุมชนชนบทที่กำลังเปลี่ยนแปลง และชุมชนชนบทกึ่งเมือง หากพิจารณารายละเอียดพบว่า ชุมชนนำมาใช้ในการคัดเลือกนี้ ผู้วิจัยกล่าวว่าเป็นการวิจัยแบบเจาะลึก ผู้วิจัยเข้าไปพัวพันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี เป็นชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในการเก็บข้อมูล กำหนดโดยใช้แบบสัมภาษณ์ คือ
แบบสัมภาษณ์ชุดที่ 1 สัมภาษณ์ทุกครัวเรือน 3 ชุมชน (จำนวน 1,062 คน)
แบบสัมภาษณ์ชุดที่ 2 เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสัมภาษณ์ผู้ให้ข่าวสำคัญ(Key informants) เพื่อทำการค้นหาหรือระบุตัวผู้นำ โดยการดูวิธีการตัดสินใจ
แบบสัมภาษณ์ชุดที่ 3 เป็นแนวทางการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชนชนบท
ซึ่งผู้สัมภาษณ์นั้น ทุกครัวเรือน 3 ชุมชน จำนวน 1,062 คน เมื่อพิจารณาดูแล้ว จะต้องใช้เวลานานมาก หากผู้สัมภาษณ์ มิใช่ผู้วิจัย ข้อมูลที่ได้อาจจะคาดเคลื่อนได้ ในการสัมภาษณ์ผู้วิจัยจะต้องออกแบบสัมภาษณ์ให้สอดคล้องกับเรื่องที่ผู้วิจัยศึกษา และจะต้องใช้ศิลปะในการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นข้อจริงให้มากที่สุดมากกว่าที่จะนำข้อเท็จต่าง ๆที่ได้รับมา ซึ่งปัจจุบันพบมาก ทำให้ผลงานที่ออกมาไม่ตรงกับความเป็นจริงทำให้ไร้คุณค่า จากประเด็นดังกล่าวนี้ หากจะนำวิธีการสุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนของประชาชนในชุมชนชนบททั้ง 3 ชุมชน น่าจะได้ข้อมูลที่เป็นข้อจริงมากกว่าและผู้สัมภาษณ์จะประหยัดเวลาและไปทำกิจกรรมอื่น ได้มากกว่า ในการพิจารณาดูจากงานวิจัยฉบับนี้ ผู้วิจัยเก็บข้อมูลทุกครัวเรือน 3 ชุมชน ทำให้เกิดประเด็นน่าสงสัย ว่ามันเป็นได้อย่างไรว่ะ ที่ผู้ทำวิจัยไปสัมภาษณ์ได้ทุกครัวเรือน ดูแล้วน่าจะขาดความเชื่อถือ ซึ่งการเก็บรวบรวมข้อมูลน่าจะใช้วิธีการออกแบบให้เหมาะสมกับข้อมูลที่เราต้องการ ใช้แบบสัมภาษณ์ ในการนี้ผู้วิจัยจะต้องเก็บข้อมูล ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ สังเกต รวบรวมข้อมูล บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรหรือบันทึกในสิ่งต่าง ๆ เช่น ถ่ายรูป บันทึกวีดีโอ กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นพฤติกรรม การกระทำ กิจกรรม การสนทนา ปฏิสัมพันธ์ต่าง ๆ กระบวนการบริบท สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ขณะทำการสังเกตหรือสัมภาษณ์ เพื่อประกอบการตีความภายหลังหรือใช้การสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง เป็นเครื่องมือสำคัญในการเก็บรวบรวมข้อมูลหรือรู้จักกันในนานสัมภาษณ์เชิงลึก “คุยอย่างไม่เป็นทางการ” ซึ่งนักวิจัยจะต้องเตรียมหัวข้อหรือประเด็นสำหรับการสนทนาไว้ล่วงหน้าและต้อง “ทำการบ้าน” มาเป็นอย่างดี เสมือนว่าเป็นการสัมภาษณ์แบบเป็นทางการ แต่บรรยากาศของการสัมภาษณ์จะต้องเป็นธรรมชาติให้มากที่สุดและมีความยืดหยุ่น ผู้ถูกสัมภาษณ์และผู้สัมภาษณ์ต่างมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันทั้งสองอาจแลกเปลี่ยนข้อมูลเท่าที่จำเป็น จุดเน้นของผู้สัมภาษณ์อยู่ที่รับฟังสิ่งที่ผู้ให้สัมภาษณ์บอกเล่า มากกว่าที่จะควบคุมการสนทนาอย่างเดียว ซึ่งเป้าหมายของการสัมภาษณ์จะต้องเข้าถึงข้อมูลที่เป็นความจริงให้มากที่สุด หลังจากเตรียมข้อมูลดังกล่าวเสร็จแล้ว ผู้วิจัยจะต้องสำรวจภายในตัวเอง ว่าตนเองมีอคติกับข้อสรุปที่คิดไว้ก่อนเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่ศึกษานั้นหรือไม่ ว่าจากภายในและจากแหล่งอื่น ๆ จะต้องขจัดออกให้หมด ก่อนที่จะเริ่มวิเคราะห์ หรือนักวิจัยปักธงไว้ก่อนว่า ข้อสรุปต้องการจะเป็นอะไร สอดคล้องกับแนวปรากฏการณ์วิทยาเรียกว่า “Bracketing หรือ Epoche’” ตามความเห็นของ Katz (อ้างใน Patton, 1990 : 407 อ้างอิงมาจาก ชาย โพธิสิตา 2549:201) หมายถึง “การขจัดอคติและความเอนเอียงของนักวิจัยออกไปก่อนที่จะเริ่มวิเคราะห์จะช่วยให้นักวิจัยวิเคราะห์ปรากฏการณ์ด้วยความคิดที่สด มีทัศนคติที่เปิดกว้าง ปราศจากการตัดสินหรือการด่วนลงความเห็นเกี่ยวกับความหมายของปรากฏการณ์ที่ศึกษาไว้ล่วงหน้า การเก็บทัศนะของนักวิจัยไว้ก่อน เช่นนี้ เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการวิเคราะห์แนวปรากฏการณ์วิทยา นักวิจัยจำเป็นต้องขจัดความเห็นของตนออกไป เพื่อที่จะได้เห็นประสบการณ์นั้นตามที่มันเป็นอย่างแท้จริง”
และการสัมภาษณ์โดยใช้ในการสัมภาษณ์ผู้ให้ข่าวสำคัญ(Key informants) หมายถึง ตัวอย่างที่ผู้วิจัยสามารถได้ข้อมูลและเรียนรู้เกี่ยวกับแก่นของประเด็น(topic) ที่ศึกษาอย่างลึกซึ้ง จนนำไปสู่คำตอบสำหรับโจทย์วิจัยและคำถามในการวิจัย และบรรลุความมุ่งหมายของการวิจัยได้ (Patoon 2001:46 อ้างอิงในทวีศักดิ์ นพเกสร 2548:176) ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้แบบสัมภาษณ์ผู้ให้ข่าวสำคัญ เพื่อค้นหาหรือระบุตัวผู้นำโดยดูที่ชื่อเสียง ระบุตัวผู้นำโดยการดูที่การตัดสินใจ ระบุตัวผู้นำโดยดูที่ตำแหน่ง ด้วยวิธีการออกไปสัมภาษณ์ประชาชนว่าบุคคลที่เขาถือว่าเป็นผู้นำ เป็นที่ยอมรับนับถือเชื่อฟัง คือใคร ให้ระบุชื่อมา คนที่ถูกเสนอชื่อมามากที่สุดถือได้ว่า เป็นผู้นำที่มีอำนาจสูงสุด และใช้การรวบรวมชื่อมาเรียงลำดับและให้ผู้ที่รู้เรื่องชุมชนดี หรือผู้นำด้วยกันเป็นผู้ตัดสินใจอีกครั้ง ซึ่งการที่บุคคลได้รับการเสนอชื่อจากประชาชนมากที่สุด ตามความเป็นจริงแล้ว อาจจะไม่มีอำนาจเลยก็ได้ หรือมีแต่ไม่มากหนักตามที่เข้าใจ เพราะการวัดความคิดเห็นของประชาชน ไม่ใช้วัดอำนาจที่แท้จริงของบุคคล ส่วนการตัดสินใจนั้นผู้วิจัยได้กล่าวว่า ผู้ที่มีบทบาทสำคัญและผลักดันให้การตัดสินใจเป็นไปตามความต้องการของตนเองได้มากที่สุดถือว่าเป็นผู้นำที่มีอำนาจมากที่สุด จากประเด็นนี้ เอาเกณฑ์อะไรมาตัดสินใจว่าเลือกประเด็นเหตุการณ์ใดมาศึกษาและจะรู้ได้อย่างไรว่าเหตุการณ์นั้น ได้รับการตัดสินใจเป็นที่สิ้นสุดแล้ว ช่วงเวลาที่ใช้ในการศึกษา จะใช้ช่วงเวลาใดมากน้อยอย่างไรจึงจะเหมาะสม สำหรับวิธีการระบุตัวผู้นำโดยดูที่ตำแหน่งกล่าวคือ ใช้วิธีที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ บุคคลใดที่มีตำแหน่งอยู่ในโครงสร้างขององค์กรนั้น ที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุด จะถือว่ามีอำนาจสูงสุด ในความเป็นจริงแล้ว บุคคลที่อยู่ในตำแหน่งนั้น อาจจะไม่เป็นผู้นำที่แท้จริงก็ได้ ซึ่งการใช้การเก็บข้อมูลดังกล่าวนี้ ยังมีจุดด้อยที่จะต้องพิจารณาหาทางเลือกให้มากที่สุด เพื่อที่จะได้ผู้นำที่มีอำนาจตามที่ผู้วิจัยต้องการ หากการเก็บรวบรวมข้อมูลดังกล่าวยังมีข้อมูลไม่ชัดเจน งานวิจัยที่ออกมาจะให้ได้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง และไม่เกิดประโยชน์กับงานที่แท้จริง
ถึงแม้ผู้วิจัยจะบอกว่าเป็นการผสมผสานระหว่างวิธีวิจัยเชิงคุณภาพและปริมาณ
การวิเคราะห์ข้อมูล
ผู้วิจัยใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล 2 แบบคือ
1) การพรรณนาวิเคราะห์ เกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้เกิดอำนาจของผู้นำ เพื่อตอบสมมติฐาน ซึ่งผู้วิจัยได้ แนวความคิดทฤษฎีและผลงานวิจัย มาเป็นกรอบแนวความคิดในการวิจัยทำให้เกิดความชัดเจน คือ ผู้นำ ผู้มีอำนาจ และผู้มีอิทธิพล ที่ทำให้ผู้อื่นยอมรับได้ ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม และปัจจัยที่ทำให้เกิดอำนาจของผู้นำที่ใช้ในการวิจัย คือ อายุ ตำแหน่งในทางสาธารณะ ความมั่งคั่ง ความรู้ ความชำนาญ และการมีข่าวสารข้อมูล การใช้อำนาจให้กับตนของผู้นำ เป็นวิธีการหรือกลยุทธที่ผู้นำใช้ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ที่เป็นประโยชน์กับตนเอง ใช้ปัจจัยทรัพยากรการเมืองเหล่านั้นอย่างไร
2) การวิเคราะห์โดยใช้สถิติ เป็นการวิเคราะห์เพื่อทดสอบสมมติฐานที่ว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดอำนาจของผู้นำชุมชน และปัจจัยที่ทำให้เกิดอำนาจของผู้นำในชุมชนชนบททั้ง 3 ชุมชน มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ซึ่งเป็นการเสริมการพรรณนาวิเคราะห์ให้มีความหนักแน่นและเด่นชัดขึ้น
ผู้วิจัยได้สรุปข้อมูลจากงานวิจัยที่เกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้เกิดอำนาจของผู้นำ มาจากแนวคิดทฤษฎีและผลงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการค้นพบเปรียบเสมือนการปักธง เพื่อไปหาคำตอบให้สอดคล้องกับข้อมูลที่มีอยู่ ดูเหมือนว่าเป็นการวิจัยเชิงสำรวจอย่างผิวเผิน ไม่ได้ไปค้นหาข้อเท็จจริงที่มาจากการวิจัยจริง ๆ มิใช้แก้ปัญหาและเกิดองค์ความรู้ใหม่เลย สถิติผู้วิจัยใช้ทางสังคมศาสตร์ ในเรื่องปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ อายุ ตำแหน่งในทางสาธารณะ ความมั่งคั่ง ความรู้ ความชำนาญ และการมีข่าวสารข้อมูล T-Test ค่าเฉลี่ย เป็นเครื่องมือ โดยผู้วิจัยให้เหตุผลว่า ปัจจัยใดที่ผู้นำและประชาชนทั่วไปมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติแล้ว การศึกษาครั้งนี้ถือว่าปัจจัยนั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอำนาจของผู้นำชุมชนชนบท ปัจจัยที่ผู้นำและประชาชนทั่วไปไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การศึกษาครั้งนี้ถือว่าไม่มีส่วนเสริมให้เกิดอำนาจแก่บุคคลในการยอมรับให้เป็นผู้นำ และปัจจัยด้านนั้นไม่นำไปวิเคราะห์ทางสถิติต่อไป และในขั้นต่อไป ปัจจัยที่ผู้นำชุมชนและประชาชนทั่วไปมีความแตกต่างกัน นำไปวิเคราะห์หาค่าทางสถิติ คือ stepwise multiple regression เป็นเครื่องมือในการพยากรณ์ เพื่อพิสูจน์สมมติฐาน 1) ปัจจัยที่ทำให้เกิดอำนาจของผู้นำในชุมชนชนบท ได้แก่ ตำแหน่งในทางสาธารณะ ความรู้ ความชำนาญและอายุ 2) ปัจจัยที่ทำให้เกิดอำนาจของผู้นำในชุมชนชนบท 3 ประเภทมีความแตกต่างกัน โดยผู้นำแบบชุมชนดั้งเดิมที่มีแนวโน้มไปในทางที่มีและใช้ตำแหน่งในทางสาธารณะน้อยกว่าและมีความรู้น้อย แต่มีความชำนาญค่อนข้างมาก มีอายุสูงกว่าผู้นำชุมชนชนที่กำลังเปลี่ยนแปลงและชุมชนกึ่งเมือง ผู้นำชุมชนชนบทกึ่งเมืองมีแนวโน้มไปในทางที่มีและใช้ตำแหน่งในทางสาธารณะมากกว่า ใช้ความรู้มาก ใช้ความชำนาญค่อนข้างน้อย ผู้นำชุมชนชนบทกี่งเมืองและผู้นำในชุมชนที่กำลังเปลี่ยนแปลง มีอายุอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน
ผู้วิจัยใช้สถิติในการวิจัยครั้ง เป็นการนำเอาสถิติเป็นเครื่องมือในการพิสูจน์เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างองค์ความรู้ ตามหลักวิธีน่าจะถูกต้อง และเมื่อพิจารณาดูให้ละเอียดลึกลงไป พบว่า สถิติที่ใช้ยังไม่ถูกต้อง เพราะผู้วิจัยใช้สถิตินามบัญญัติและลำดับ มาหาค่าเฉลี่ยในการวิจัย สถิติในการวิเคราะห์สมการในการพยากรณ์ ใช้ตัวแปรนามบัญญัติแปลงให้เป็นตัวแปรหุ้นก่อนที่จะพยากรณ์ได้ ในการศึกษาปัจจัยที่ทำให้ผู้นำมีอำนาจ
Y(อำนาจ)= a(X1+X2+X3+X4)
เมื่อ Y คือ อำนาจ
X คือ ปัจจัย X1=ตำแหน่งในสาธารณะ, X2=ความรู้,X3= ความชำนาญ,X4=อายุ
เพื่อดูว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดอำนาจกับตน ซึ่งผู้วิจัยพยายามใช้สถิติในการนำมาอธิบายยังมีข้อบกพร่องอยู่มาก ผู้วิพากษ์เห็นว่า หากจะทำวิจัยเรื่องนี้ ให้เกิดประโยชน์จริงๆ และถูกต้องมากที่สุด ควรที่จะศึกษาแบบคุณภาพโดยการลงพื้นที่ศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และนำมาเรียบเรียงโดยมีการตรวจสอบข้อมูล สามเส้า คือ ชุมชน โรงเรียน สถานีอามัย ซึ่งจะได้ข้อมูลชัดเจนไม่ต้องนำสถิติเป็นหลักในการอธิบาย ควรที่จะใช้เครื่องมือในการค้นหา ไม่จำเป็นต้องยึดสถิติขั้นสูง ทำให้ดูน่าเชื่อถือ แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดแล้วยังบกพร่องอยู่มาก
ภาพรวมของวิจัยฉบับนี้
สรุปจากประเด็น ชื่อเรื่อง วัตถุประสงค์ สมมติฐาน สอดคล้องกันหรือไม่ ในงานวิจัยครั้งนี้ หากพิจารณาดูพบว่า น่าจะสอดคล้องกัน แต่ผู้วิพากษ์เห็นว่า การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยยังมองเห็นประเด็นปัญหาไม่ชัดเจน ตรงที่ว่า การตั้งคำถามในการวิจัย ยังไม่ได้เป็นการค้นหาข้อเท็จจริงจากสิ่งที่เกิดขึ้นจากชุมชน เพียงแต่ปักธง นำวิธีการเก็บข้อมูลแบบปริมาณและคุณภาพ มาเป็นเทคนิคในการวิจัยเท่านั้น น่าจะไม่เกิดการเรียนรู้อะไรเลย หากมองให้ลึกลงไปในชุมชน เราจะต้องศึกษาถึงปรากฏการณ์ที่ปรากฏการณ์ทางสังคม(social phenomena) ซึ่งมีตัวมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะผู้กระทำ (actor) การเกิดขึ้น (emergence) หรือการดำรงอยู่ (existence) หรือการเปลี่ยนแปลง(change)หรือแม้แต่การล่มสลาย ของปรากฏการณ์ทางสังคมแต่ละปรากฏการณ์ ด้วยเหตุดังนั้น การศึกษาวิจัยเพื่อจะทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าปรากฏการณ์ที่นักวิจัยกำลังศึกษาวิจัยอยู่นั้นมันเกิดขึ้น หรือดำรงอยู่หรือเปลี่ยนแปลงหรือล่มสลายภายใต้เงื่อนไข อะไร (Under what conditions has such a social phenomenon occurred?) กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ นักวิจัยต้องการที่จะรู้ว่ามันมีเหตุปัจจัยอะไรที่หนุนเนื่องให้ปรากฏการณ์นั้น”เกิดขึ้น” นักวิจัยจึงไม่สามารถปฏิเสธความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของปรากฏการณ์ที่กำลังศึกษาวิจัยอยู่ได้ และเมื่อพิจารณาในแง่ของการออกแบบการวิจัยแล้ว การที่มี่ความเชื่อพื้นฐานแบบนี้ การออกแบบวิจัยนั้นจะไม่สามารถออกแบบการวิจัยที่เรียกว่าแบบตัดขวาง (Cross-sectional Design) ได้ ดังที่การวิจัยที่ใช้วิธีวิทยาเชิงปริมาณมักจะใช้กันอยู่เสมอ เพราะการออกแบบการวิจัยแบบตัดขวางก็เท่ากับการปฏิเสธมิติทางประวัติศาสตร์ของปรากฏการณ์นั้นนั่นเอง และเมื่อมีการปฏิเสธมิติทางประวัติศาสตร์แล้ว งานศึกษาวิจัยนั้นจะค้นพบความจริงได้อย่างไร ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นด้านเดียวมิได้มองเห็นมิติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เนื่องจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทางสังคม เป็นพลวัตรที่เกิดอย่างรวดเร็วที่ไม่มีวันหยุดหนึ่ง ทั้งที่เป็นแบบที่เป็นแบบแผน (Pattern) ที่แน่นอนและมีทั้งที่ไม่เป็นแบบแผน ตายตัว(Chaotic) เพราะฉะนั้นการจัดทำกรอบวิจัยที่เป็น”โมเดล”(Model)อันเป็นที่นิยมกันในการทำวิจัยสาขาวิชาต่างๆโดยเฉพาะสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพนั้นอาจจะใช้ได้กับปรากฏการณ์ทางสังคมบางชนิดเท่านั้นแต่ไม่สามารถนำมาใช้อย่างเป็นสูตรตายตัวกับปรากฏการณ์ทางสังคมอีกหลาย ๆ ชนิด ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของปรากฏการณ์ทางสังคมนั้นนอกจากมีความลื่นไหล (Dynamic)แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆมิได้เป็นอิสระหรือมีความสัมพันธ์เชิงเส้นตรงเสมอไป การใช้เครื่องมือทางสถิติเป็นตัววิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยแต่ละตัวอาจจะใช้ไม่ได้ในหลายกรณี ไม่เป็นอิสระจากระบบคุณค่า(Non-value-free)ทั้งของผู้ที่ศึกษาปรากฏการณ์และทั้งตัวปรากฏการณ์เอง เพราะฉะนั้นการวิเคราะห์ตีความที่ให้ความหมายจากฐานตัวเลขจึงไม่สามารถสะท้อนความเป็นจริงทางสังคม (Social Reality) ได้ ด้วยเหตุดังนั้น การวิเคราะห์ตีความข้อมูลในการวิจัยจึงไม่สามารถใช้วิธีการที่นิยมกันในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์กายภาพได้ทั้งหมด แต่การวิเคราะห์ต้องพิจารณาถึงมิติที่ละเอียดอ่อนกว่ามิติที่เป็นตัวเลขที่แสดงจำนวนอย่างเดียว เช่นมิติด้านคุณค่า ด้านอารมณ์ความรู้สึกและด้านระบบคิดเป็นต้น
สำหรับการออกแบบการวิจัย ผู้วิพากษ์เห็นว่า ผู้วิจัยใช้ระยะเวลานานมาก ยุ่งยากและไม่น่าจะมาตรงกับข้อจริง น่าจะตรงกับข้อเท็จมากกว่าข้อจริง ซึ่งการออกแบบการวิจัยที่ใช้หน่วยการวิเคราะห์หรือกรณีศึกษา (Case study) มากกว่าหนึ่งหน่วยหรือหนึ่งกรณีศึกษา การออกแบบการวิจัยแบบนี้อาจเรียกว่า Multi-case Comparative Design การออกแบบการวิจัยในลักษณะนี้อาจจะไม่ต้องใช้ระยะเวลานานเท่ากับการออกแบบอย่างแรก เพราะการใช้หน่วยการวิเคราะห์มากกว่าหนึ่งหน่วยจะช่วยให้การ Validate ข้อมูลได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องรอเงื่อนไขด้านเวลามาเป็นตัวช่วย อย่างไรก็ตามการออกแบบการวิจัยแบบนี้ก็มีข้อจำกัดเหมือนกัน นั่นคือนักวิจัยต้องใช้เวลาในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากทุกหน่วยวิเคราะห์ ถ้าหน่วยวิเคราะห์อยู่ไม่ห่างกันมากนักก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าหน่วยการวิเคราะห์อยู่ห่างกันมาก นักวิจัยก็ต้องทำงานหนักขึ้น และที่เป็นข้อจำกัดมากกว่านั้นก็คือในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสังเกต การมีหน่วยวิเคราะห์มากกว่าหนึ่งหน่วยอาจจะทำให้การสังเกตเป็นไปได้ยากประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่งเงื่อนไขด้านเวลาที่ต้องใช้การสังเกตอาจมีข้อจำกัดมาก
การเก็บรวบรวมข้อมูล การเก็บข้อมูลในงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้กล่าวว่า เป็นการวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ หากพิจารณาพบว่าไม่ได้รายละเอียดมากหนัก ด้วยเหตุนี้หากเป็นวิทยาการวิจัยเชิงคุณภาพให้ความสนใจกับรายละเอียดของข้อมูลโดยเฉพาะข้อมูลแนวลึกที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพราะฉะนั้นกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลของวิธีวิทยาการวิจัยเชิงคุณภาพจึงมีความจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ในกรณีของการเก็บข้อมูลใน”สนาม” (Field) นักวิจัยที่เลือกใช้วิธีวิทยาการวิจัยเชิงคุณภาพมักจะยึดวิธีการและขั้นตอนในการเก็บรวบรวมข้อมูลดังนี้
ขั้นการเข้าสู่สนาม (Gain Entry to the Field) ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญเพราะความสำเร็จของการเก็บรวบรวมข้อมูลขึ้นอยู่กับขั้นตอนนี้มากทีเดียว เพราะธรรมชาติของมนุษย์ในการแสดงพฤติกรรม มนุษย์เป็นทั้งตัวกระตุ้นและตัวตอบสนอง และมนุษย์ให้ความสำคัญกับ Perception มากกว่า Reality เพราะการเข้าสู่สนามของนักวิจัยจะต้องไม่เป็นการ”กระตุ้น”ให้ผู้ให้ข้อมูล”ตอบสนอง”ในลักษณะที่ไม่ได้ข้อมูลจริง และการวางตัวเองของนักวิจัยในขณะเข้าสู่สนามจะต้องไม่ทำให้ผู้ให้ข้อมูล “perceive” นักวิจัยในลักษณะที่นักวิจัยไม่ได้ข้อมูลที่เป็นจริง ขั้นตอนนี้นักวิจัยต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า การเก็บรวบรวมข้อมูลนั้นน่าเชื่อถือได้และเป็นข้อมูลที่เป็นจริง นักวิจัยจะต้องเตรียมตัวมากพอสมควร ต้องมีสอดคล้องกับวิถีชีวิตของพื้นที่ที่นักวิจัยลงไปเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น พูดภาษาต่างกัน นักวิจัยควรเรียนรู้ภาษาที่พื้นที่นั้น เสียก่อน ถ้าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ที่ผู้คนนับถือศาสนาต่างกับนักวิจัย นักวิจัยจะต้องทำความเข้าใจกับหลักการและหลักปฏิบัติของศาสนานั้นก่อนลงไปเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นต้น นักวิจัยที่เข้าสู่สนามโดยไม่มีการเตรียมการอย่างดี จะมีโอกาสได้ข้อมูลที่ไม่จริงหรือเชื่อถือไม่ได้เป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นในเกือบทุกกรณีนักวิจัยจะต้องเข้าไปทำความรู้จักกับ”สนาม”นั้นก่อนหน้าที่จะลงมือเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งในความเป็นจริงหากผู้วิจัยไม่ปฏิบัติตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ทำให้งานวิจัยมีแต่ข้อจริงและเท็จ ทำให้ผลงานไม่น่าเชื่อถือ
ขั้นการสร้างความคุ้นเคยและความไว้วางใจ (Build Rapport and Trust) ขั้นนี้เป็นขั้นต่อเนื่องจากขั้นแรกเมื่อนักวิจัยเข้าสู่สนามแล้ว ก่อนที่จะลงมือเก็บรวบรวมข้อมูลที่ต้องการนักวิจัยควรต้องสร้างความคุ้นเคยและความไว้วางใจกับผู้คนที่อยู่ในพื้นที่นั้นก่อน
ขั้นการแสวงหาแหล่งข้องมูลหลัก (Identification of the Key Informants) ขั้นนี้ เป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องจากขั้นตอนที่สอง ซึ่งนักวิจัยจะต้องพยายามมองหาว่าในพื้นที่นั้นมีแหล่งข้อมูลอะไรหรือแหล่งข้อมูลใดที่อาจใช้เป็นแหล่งข้อมูลหลักของการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ต้องการ หลักการในขั้นนี้สอดคล้องกับแนวความคิดพื้นฐานของวิธีวิทยาการวิจัยเชิงคุณภาพที่กล่าวแล้วว่า ความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลมีความสำคัญกว่าจำนวนความถี่ (Frequencies) เพราะฉะนั้นถ้านักวิจัยสามารถระบุได้ว่าแหล่งข้อมูลใดน่าเชื่อถือได้มากที่สุด
ขั้นลงมือเก็บรวบรวมข้อมูล (Data Collection) ขั้นนี้นักวิจัยจะต้องพิจารณาว่าในการเก็บข้อมูลแต่ละอย่างนั้น จะเก็บรวบรวมจากแหล่งใดบ้าง
1. แหล่งข้อมูล ซึ่งมีอยู่ 3 แหล่งใหญ่ คือ ตัวคน เอกสาร (รวมถึงแผนที่ ภาพถ่าย วีดีทัศน์
เทปบันทึกเสียง ฯลฯ) และ บริบททางสังคม (Social contexts)
2. วิธีเก็บรวบรวมข้อมูลซึ่งมีหลายวิธี เช่นการใช้แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ การสังเกต
หลากหลายวิธี
3. การบันทึกข้อมูล เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์หรือการสังเกต การบันทึกข้อมูลอาจทำได้โดยการจดบันทึกลงบนกระดาษ และในกรณีที่ใช้วิธีการสัมภาษณ์ก็อาจใช้เครื่องบันทึกเสียงหรือ การถ่ายวีดีทัศน์ แต่ด้วยเหตุที่วิธีวิทยาการวิจัยมีความเชื่อเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องที่มนุษย์เป็นทั้ง”ตัวกระตุ้น” (Stimulus)และ “ตัวตอบสนอง” (Response) ประการหนึ่ง
การวิเคราะห์ข้อมูลและการตีความ
วิทยาการวิจัยเชิงคุณภาพให้ความสำคัญกับเรื่อง ความหมาย (Meaning) และความสัมพันธ์ในเชิงทับซ้อน (Complexity) ของเหตุปัจจัยต่างๆที่ก่อให้ปรากฏการณ์ทางสังคม”เกิดขึ้น” ประกอบกับการที่ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีทั้งที่เป็นข้อมูลตัวเลขและข้อมูลที่ไม่เป็นตัวเลข นักวิธีวิทยาการวิจัยเชิงคุณภาพจึงเลือกใช้วิธี การวิเคราะห์ข้อมูลและตีความข้อมูลอย่างมีความรู้ความเข้าใจในบริบททางสังคมวัฒนธรรม ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และมิติทางประวัติศาสตร์ของแหล่งข้อมูลและเนื้อหาข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาได้ โดยพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ระบบคุณค่าและโลกทัศน์ของนักวิจัยให้มากที่สุด
กล่าวโดยสรุปหากข้าพเจ้าเป็นผู้ดำเนินการวิจัยนี้จะใช้วิธีการวิจัยแบบคุณภาพ เพื่อค้นหายืนยันความน่าเชื่อถือในการค้นพบมากกว่าที่ผู้วิจัยได้ดำเนินการมาแล้วทั้งสิ้น ซึ่งจะได้ทั้งข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เป็นบริบททางสังคม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น การดำรงอยู่ และการเปลี่ยนแปลงของคนในสังคม แต่อย่างไรก็ตามงานวิจัยชิ้นนี้ ควรที่จะเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพมากกว่าที่ผู้วิจัยกล่าวว่าเป็นวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ และซึ่งงานวิจัยคุณภาพโดยการลงพื้นที่และศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะต้องนำมาเรียบเรียงโดยการตรวจสอบข้อมูล 3 เส้า คือ ชุมชน โรงเรียน สถานีอามัย ฯลฯ ซึ่งใช้กระบวนการวิจัยคุณภาพที่ใช้ความระมัดระวังในการเก็บข้อมูล เพื่อจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นเครื่องมือในการค้นหามากกว่าการใช้สถิติระดับชั้นสูงซึ่งดูเหมือนว่าน่าเชื่อถือ แต่เมื่อพิจารณาอ่านดูแล้วยังมีข้อบกพร่อง หรือผู้วิจัยได้ปักธงไว้ก่อนแล้ว ทำให้งานวิจัยที่ออกมาขาดความน่าเชื่อถือ อาทิ การเก็บข้อมูลชุมชน 3 ชุมชนที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งพิจารณาดูแล้วขาดความน่าเชื่อถือ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือเห็นว่าอาจอาศัยเทคนิคมากกว่าเป็นค้นคว้าวิจัยที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ช่างกลึง พึ่ง ช่างชัก
ตอบลบช่างสลัก พึ่ง ช่างเขียน
ช่างติเตียน พึ่ง ปรมาจารย์
อ่านแล้วได้ความรู้แตกฉาน ซ่านซ่า เริ่มไม่คล้อยตามที่ผู้วิจัยพาไป เห็นมุมที่ไม่ได้เห็นชัดขึ้น
ขอเป็นกำลังใจให้ผู้เป็นเจ้าของผลงานก็ยิ่งน่าภูมิใจ เพราะมีผู้รู้มาช่วยสะกิดสะเกาให้ งานหน้าจะได้ยิ่งสมบูรณ์ แต่เชื่อว่าป่านนี้ ท่านคงก้าวไปไกลสุดกู่แล้ว